วันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565
เวลา 8:00 น.ออกเดินทาง ช่วงวันหยุดปีใหม่นี้คุณป๋าขับรถขึ้นไปส่ง มป เพราะเปิดเทอมสองหลังปีใหม่ แพลนขับรถเที่ยวแวะพักระหว่างทาง 4 วัน 3 คืน จุดหมายแรกคือแวะพักที่หลังสวน
เวลา 13:00 น.เดินทางมาถึง อ.หลังสวน จ.ชุมพร เลี้ยวขวาเข้าไปในตัวเมือง
ในตลาดมีบ้านไม้สองชั้นเรียงกันหลายหลังได้บรรยากาศของเมืองเก่า
ขับรถจากถนนสายเอเชียเข้ามาประมาณ 15 กม.จนถึงถนนเลียบชายทะเลแล้วเลี้ยวซ้าย
ถนนหมายเลข 4012 เป็นถนนเลียบชายทะเลมีวิวสวยงาม
แวะถ่ายรูปข้างทาง ตอนบ่ายแดดจัดและร้อนมาก
น้ำทะเลสวยสะอาด
บริเวณนี้เป็นจุดพักรถและชมวิว
รูปปั้นหลวงปู่ทวดและพระสีวลีเถระ
ชายหาดบริเวณนี้แคบและมีหินมาก ไม่เหมาะกับการลงเล่นน้ำ
มีบันไดเล็กๆเดินลงไปที่ชายหาดได้
ขับรถต่อไปตามถนนนี้อีกประมาณ 10 กม. เราจะไปที่เกาะพิทักษ์ค่ะ
ถึงทางแยกเลี้ยวขวาไปท่าเรือเกาะพิทักษ์
ขับรถเข้ามาอีก 1 กม.ก็มาถึงท่าเรือแล้วค่ะ
รูปปั้นปลาหมึกยักษ์
มาถึงก็ต้องมาถ่ายรูปคู่กับปลาหมึกเพราะเป็นสัญลักษณ์ของที่นี่เลยค่ะ
ตัวสูงประมาณ 3 เมตร
ห้ามนั่งบนตัวปลาหมึก
บ้านท้องครก ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน จ.ชุมพร
ด้านหลังคือเกาะพิทักษ์
เกาะพิทักษ์ ตั้งอยู่บริเวณอ่าวท้องครก ห่างจากชายฝั่ง 1 กิโลเมตร
ในอดีตชาวบ้านเรียกว่า เกาะผีทัก เนื่องจากสมัยก่อนชาวประมงออกเรือหาปลามาถึงบริเวณเกาะนี้พอมองขึ้นไปบนฝั่งบนเกาะก็พบเงาคนกำลังกวักมือเรียก แต่พอเข้าไปใกล้ๆเกาะกลับไม่พบใคร
ทำให้ชาวประมงพากันเรียกว่าเกาะผีทัก ต่อมาเริ่มมีชาวบ้านขึ้นไปอาศัยอยู่บนเกาะ
จึงเปลี่ยนชื่อเป็น เกาะพิทักษ์ เพื่อความเป็นสิริมงคล
บริเวณริมฝั่งไปจนถึงเกาะเป็นพื้นที่ปลูกหญ้าทะเลเพื่อเป็นบ้านปลาและที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำ
ประวัติเกาะพิทักษ์
ปลาหมึกคู่
ท่าเรือเกาะพิทักษ์
เกาะอยู่ไม่ไกลจากฝั่ง ในช่วงน้ำลงน้ำทะเลจะแห้งเป็นสันทรายสามารถเดินข้ามไปยังเกาะได้
บนเกาะมีที่พักแบบโฮมสเตย์เป็นแพ็คเกจแบบรวมค่าเรือ อาหารและที่พัก
พวกเราไม่ได้ไปพักบนเกาะค่ะ
เดินเล่นและถ่ายรูปบริเวณท่าเรือ
กำลังมีการก่อสร้างศาลาริมทะเล
ถ่ายรูปเสร็จก็เดินทางกลับค่ะ
ขับรถย้อนกลับทางเดิม
แวะถ่ายรูปสุสานหอยล้านปี ต.บางน้ำจืด อ.หลังสวน
บริเวณนี้เป็นลานหินกว้างยื่นลงไปในทะเล เนื้อหินคือซากหอยอัดแน่นจนกลายเป็นหาดหินริมทะเล
เมื่อก่อนที่นี่เป็นหนองน้ำจืดขนาดใหญ่ มีหอยอาศัยอยู่จำนวนมากโดยเฉพาะหอยขม
ต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงบริเวณพื้นผิวโลก และน้ำทะเลไหลมาท่วมหนองน้ำ ทำให้หินปูนในทะเลหุ้มเปลือกหอยจนกลายเป็นเนื้อเดียวกัน กลายเป็นแผ่นหินแข็งหนาประมาณ 40 เซนติเมตร
ต่อมาแผ่นดินถูกยกตัวขึ้นจีงปรากฏเป็นลานหินกว้างใหญ่ริมทะเล
จากการคำนวณอายุทางธรณีวิทยาพบว่า ฟอสซิลเหล่านี้มีอายุประมาณ 40 ล้านปี
สุสานหินนี้มีความยาวของหาดประมาณ 1 กิโลเมตร
เวลา 14:30 น.เดินทางมาถึงที่พัก บ้านเลรีสอร์ท
ที่พักอยู่ในสวนมะพร้าวติดทะเล มีสระว่ายน้ำด้วยค่ะ
ระหว่างรอเตรียมห้องพัก ไปเดินเล่นริมทะเลก่อนค่ะ
ชายหาดสะอาดมาก
มีเงาร่มไม้เลยไม่ร้อน ลมพัดเย็นสบาย
ชายหาดสงบและเป็นส่วนตัว
ห้องพักของพวกเราอยู่ชั้นสองห้องด้านหน้ามีระเบียงชมทะเล
ห้องนอนแบบสามคน มีแอร์ ห้องน้ำไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่น ราคา 1500 บาท
เวลา 16:00 น.หลังจากนอนพักผ่อนแล้วก็ขับรถไปเที่ยวกันค่ะ
ถนนหมายเลข 4012 เป็นถนนเลียบชายฝั่งทะเลภาคใต้ที่สวยงามอีกเส้นหนึ่ง
ภูมิทัศน์ริมทะเลบางช่วงยังไม่ค่อยดี ดูรกร้าง
ไปทานอาหารเย็นที่ปากน้ำหลังสวน
ร้านแนะนำของที่นี่ค่ะ
สั่งอาหารแค่สามอย่างแต่ดูเต็มโต๊ะมากเลย ราคาทั้งหมด 700 บ.
ออส่วนกรอบ กุ้งผัดพริกเกลือ ส้มตำไทย ปลาอินทรีย์ทอดน้ำปลา (มียำมะม่วงแถมมาด้วยค่ะ)
ทานอาหารเสร็จ ก็ออกไปเดินเล่นที่ลานโลมา
ด้านหลังคือแม่น้ำหลังสวนและแพปลา
แม่น้ำไหลลงทะเลที่ปากน้ำหลังสวน
ชายทะเลปากน้ำหลังสวน
น้องจ้ำม่ำมากๆเลย
เรือหลวงจักรีนฤเบศรจำลอง (HTMS Chakri Naruebet)
รอบๆเรือจำลองกำลังมีการก่อสร้างอาคารและปรับปรุงสถานที่
ลานรอบๆเรือจำลองมีรูปปั้นปลาหลายอัน
เรือหลวงจักรีนฤเบศรจำลอง ตั้งอยู่ที่ชายหาดแหลมสน ต.ปากน้ำหลังสวน อ.หลังสวน จ.ชุมพร
เรือหลวงจักรีนฤเบศรลำจริงอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบจังหวัดชลบุรี
ก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 จากความศรัทธาของประชาชนและคนในชุมชนปากน้ำหลังสวน เสียสละทรัพย์และแรงงาน ใช้งบก่อสร้างประมาณในการก่อสร้างประมาณ 12 ล้านบาท
จุดประสงค์ในการสร้าง คือ จำลองสถานที่เดินเรือ
และเป็นที่ประทับรูปปั้นจำลองของเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
เรือจำลองตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ข้างๆมีที่สำหรับจุดประทัดแก้บน
เรือจำลองมีขนาดกว้าง 39 เมตร ยาว 79 เมตร สูง 18 เมตร มีขนาด 1 ใน 3 ของเรือจักรีนฤเบศรลำจริง
ขึ้นไปชมด้านบนเรือได้ฟรี เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น.
เรือจำลองเป็นอาคาร 3 ชั้น ชั้นล่างคือห้องประชุม มีส่วนจัดแสดงประวัติการก่อสร้าง
และประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ
ชั้น 2 เป็นตำหนักที่ประทับรูปปั้นจำลองของเสด็จกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์
ชั้น 3 บนสุดเป็นที่ชมวิวชายทะเล
ชายหาดกว้างแต่หาดทรายไม่ขาวเหมือนเอาทรายจากที่อื่นมาถม
ลมแรงเหมาะกับการเล่นว่าวมาก
สวนหย่อมริมทะเล มีการประดับไฟเพื่อจัดงานปีใหม่
ด้านหลังมีร้านและรถเข็นขายอาหารให้ซื้อมานั่งทานริมทะเล
เวลา 18:00 น.เดินทางกลับที่พัก
กลับมาเดินเล่นที่ชายหาดของที่พัก
เจ้าขาววิ่งมาเล่นด้วยสักพักก็เดินตามเจ้าของกลับบ้าน
ชายหาดสวย สะอาดและสงบเงียบเหมาะกับการพักผ่อนมาก
เวลา 18:30 น.ฝนตกหนักมาก เลยกลับห้องนอนเล่น วิวจากห้องนอนมองเห็นทะเล ท้องฟ้ามืด
ที่พักมีไวไฟฟรีค่ะ นอนเล่นสักพักก็อาบน้ำเข้านอน
เวลา 6:30 น.ตื่นมาชมพระอาทิตย์ขึ้น
ระเบียงหน้าห้องนอน
พระอาทิตย์เริ่มขึ้นแล้ว
มป ยังไม่ตื่น แม่ตุ๊กเลยลงไปเดินเล่นที่ชายหาด
เจ้าขาวรีบวิ่งมาหา เป็นเพื่อนเดินเล่นกัน
เช้านี้เมฆเยอะมากเลยไม่ค่อยมีแสงอาทิตย์
รูปจากระเบียงชั้นสองของห้องอาหาร
เวลา 7:30 น.อาบน้ำ แต่งตัวเสร็จก็ลงมาทานอาหารเช้ากันค่ะ
อาหารเช้า มีข้าวต้มปลา ข้าวเหนียวสังขยา ปาท่องโก๋ กาแฟ โอวัลติน
ทานอาหารเสร็จเล่นกับน้องเหมียวแล้วก็ออกเดินทางต่อค่ะ
รูปสุดท้ายก่อนกลับ
เวลา 8:30 น.ขับรถไปชุมพร เลี้ยวขวาที่สามแยกเพื่อไปถนนหมายเลข 41
เวลา 9:30 น.เดินทางมาถึง อ.เมือง จ.ชุมพร ผ่านแยกปฐมพรขับต่อไปตามถนนหมายเลข 1001 อีก 10 กม.
แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนน 1007 อีก 2 กม.ถึง ต.บางลึก เลี้ยวขวาไปที่โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่
ขับไปตามทางอีก 2 กม.จนถึงคลองหนองใหญ่ ข้ามสะพาน
มาถึงจุดหมายแล้วค่ะ
สะพานชมกวาง หนองใหญ่
แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ของ จ.ชุมพร เปิดเมื่อเดือนตุลาคม 2562
พวกเรามาถึงตอนเช้าคนยังไม่เยอะมาก
อ่างเก็บนํ้าหนองใหญ่ ต.บางลึก อ.เมือง จังหวัดชุมพร (แก้มลิงหนองใหญ่)
ซื้อกล้วยไปฝากกวางคนละถุง ราคาถุงละ 20 บาท (3 ถุง 50 บ.)
เดินข้ามสะพานแขวนไปที่เกาะกลางน้ำ สะพานแข็งแรงดูปลอดภัยดีค่ะ
ฝูงเป็ดหากินอยู่ริมน้ำ
บนสะพานก็มีกล้วยขายด้วยค่ะ กล้วยเล็บมือนางและกล้วยหอม
สะพานทอดยาวไปยังอีกฝั่งซึ่งอยู่ใกล้กับจุดที่กวางอาศัยอยู่
โครงการแก้มลิงนี้เกิดจากเมืองชุมพรประสบกับปัญหาน้ำท่วมบ่อย เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศ
ของตัวเมืองอยู่ในที่ลุ่มต่ำ การระบายน้ำทำได้ยาก
ในหลวง ร.9 ทรงให้ขุดคลองทำระบบระบายน้ำแก้มลิงเพื่อสะสมและรองรับน้ำในปริมาณมาก
ตั้งชื่อว่า โครงการหนองใหญ่ และ ขุดคลองขนาดใหญ่เชื่อมต่อการระบายน้ำลงสู่ทะเล
สะพานนี้มีความยาวประมาณ 150 เมตร
ตรงกลางสะพานมีศาลาชมกวาง
เดินไปจนสุดสะพาน
ในปี พ.ศ.2553 ได้มีการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นที่เลี้ยงกวาง
โดยรับกวางจากศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์หนองกวาง จ.ราชบุรี เป็นกวางพันธุ์รูซ่าอายุ 3 ปี จำนวน 10 ตัว เป็นตัวผู้ 6 ตัวและตัวเมีย 4 ตัว นำมาปล่อยขยายพันธุ์ จนปัจจุบันมีกวางมากกว่า 60 ตัว
ในปี พ.ศ.2561 ได้ดำเนินการสร้างสะพานไม้ขนาดใหญ่ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว
และพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เรียกว่า สะพานชมกวาง
Rusa Dear
ลักษณะทางชีววิทยาของกวาง
น้องกวางนอนหลบแดดอยู่ใต้ร่มไม้
กวางรูซ่าตัวผู้ทุกตัวมีเขา
ด้านหน้าคือสะพานไม้เคี่ยมยาวประมาณ 1 กิโลเมตร
ถ่ายรูปเสร็จแล้ว ไปให้อาหารกวางกันค่ะ
กวางอาศัยอยู่อีกฝั่ง เวลาให้กล้วยต้องโยนขึ้นไปบนฝั่ง
ถ้ากล้วยตกน้ำน้องกวางก็ต้องลงมางมกิน
กวางตัวผู้เขาใหญ่มาก
บางตัวเหมือนลูกกวาง
แม่กับลูกหาอาหารด้วยกัน
กวางตัวนี้เดินลุยน้ำมากินกล้วยที่สะพาน กินเสร็จก็เดินกลับ
เราไม่สามารถโยนกล้วยให้กวางรับได้เพราะสายตากวางไม่ดี ถ้าโยนไม่ถึงฝั่งกล้วยจะจมน้ำ
เทคนิคคือควรใช้กล้วยหอมเพราะมันลอยน้ำได้ไม่เหมือนกล้วยเล็บมือนาง
กวางที่นี่ดูสมบูรณ์อ้วนท้วนดี
กิจกรรมให้อาหารกวางบนสะพานชมกวางแบบนี้ก็สนุกดีค่ะ
ช่วงเย็นจะมีคนมาเที่ยวมากเพราะแดดไม่ร้อน
พอแดดร้อนมาก กวางก็ไม่ค่อยออกมาทานอาหาร
ให้อาหารกวางเสร็จก็กลับกันค่ะ
เวลา 10:00 น.ถ่ายรูปเป็นที่ระลึกแล้วก็ออกเดินทางต่อ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น