TUKEMD

__TUKEMD__ชื่อบ้าน อ่านว่า ตุ๊ก-เอ็ม-ดี นะจ๊ะ เป็นชื่อในเน็ตของแม่ตุ๊กเองค่ะ

บ้านหลังน้อย หลังนี้เป็นของแม่ตุ๊ก,น้องมะปราง และ คุณป๋า

เป็นบล็อกเพื่อบันทึกความสุข ความทรงจำ ในการท่องเที่ยวที่ต่างๆของครอบครัวเราค่ะ



2563/04/14

เที่ยวสิงหนคร ริมเลวัดป่าขาด พระนอนวัดแหลมจาก

วันอังคารที่ 14 เมษายน 2563

เวลา 15:00 น. วันนี้เป็นวันครอบครัว คุณป๋าลางานพาพวกเราไปเที่ยวทะเลกันค่ะ 
จุดหมายคือ อ.สิงหนคร จ.สงขลา

ขับรถไปทางเกาะยอ ผ่านสวนป๋าเปรม

สวนปิด เนื่องจากสถานการณ์ COVID 2019

ข้ามสะพานไปเกาะยอ

ทะเลสาบสงขลา


ข้ามสะพานต่อเพื่อไปยัง อ.สิงหนคร


ลงจากสะพานก็ขับต่อไปตามทางหลวงชนบท สงขลา 3011 อีกประมาณ 10 กม.
 จนถึงสามแยกไฟแดงก็เลี้ยวซ้าย


ขับรถต่อไปอีกประมาณ 5 กม.

ข้ามคลองสทิงหม้อ


จุดหมายอยู่ข้างหน้าแล้วค่ะ

วัดป่าขาด 
ที่อยู่ ม.2 ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา พื้นที่เป็นที่ราบ ด้านหน้าติดกับทุ่งนา ด้านหลังของวัดติดกับทะเลสาบสงขลา  ในอดีตคนแถววัดสามารถเดินด้วยเท้าลัดทุ่งนามายังวัดได้ แต่ใช้ทางเรือเป็นหลัก 

วัดป่าขาดสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2200 ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
ได้รับการพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อปี พ.ศ. 2250

พระะอุโบสถวัดป่าขาด 
สร้างแบบก่ออิฐถือปูนมีลักษณะทรงไทยภาคกลางประยุกต์ หลังคาเป็นแบบมีปีกนกแบบมุขเดียวลดระดับ มีเสาพาไลด้านหน้า 4 เสา หลังคาประดับช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ ส่วนหน้าบันเป็นรูปลายไทย
มีประธานรูปเป็นเทวดาทรงครุฑ ซุ้มประตูและหน้าต่างพระอุโบสถเป็นรูปมงกุฎ 
พระอุโบสถประดิษฐานอยู่ภายในกำแพงแก้ว มีเสมาโปร่งแท่งแบบสี่เหลี่ยม

ด้านหลังของวัดติดกับทะเลสาบอยู่ริมทะเลสาบสงขลา (ทะเลหลวง)


ริมเลวัดป่าขาด


มุมสวยๆให้ถ่ายรูป




ด้านหลังคือสะพานเชื่อมไปยังศาลากลางน้ำ


 ศาลาโบราณวัดป่าขาด


ตามประวัติสร้างมาตั้งแต่สมัยสร้างอุโบสถ เป็นศาลาทรงไทย ทำจากไม้มะค่าทั้งหลัง
 ได้รับการบูรณะหลายครั้ง มีการปูกระเบื้อง และทาสีใหม่สวยงามทั้งหลัง

ตอนนี้กำลังมีการขุดตลิ่งริมน้ำ



ด้านในศาลามีพระพุทธรูปหนึ่งองค์

เข้าไปไหว้พระด้านในกันค่ะ

รอบๆศาลามีทางเดิน


ชมวิวทะเลสาบสงขลา


ถ้ามาตอนเย็นน่าจะสวยดีนะคะ ได้เห็นพระอาทิตย์ตกน้ำ




ทางเดินรอบศาลาตกแต่งด้วยไห




กุฏิริมน้ำ


โครงการจัดสร้างแหล่งอาศัยสัตว์ทะเล (ซั้ง)

บ้านปลาเอื้ออาทร

ศาลากลางน้ำและสะพานตกแต่งด้วยไหสวยดีค่ะ

เดินไปชมจุดที่คนนิยมมาเช็คอินกันค่ะ


เดินเลียบริมทะเลข้างกุฏิ


ต้นมะพร้าววัดใจ หลังวัดป่าขาด อยู่ติดทะเลสาบสงขลา


ต้นมะพร้าวนี้ถูกพายุพัดถล่มเมื่อ 10 ปีก่อน แต่รอดมาได้ 
แรงพายุทำให้ลำต้นเอนเกือบนอน ยื่นลงไปในทะเลสาบสงขลา 


ยอดมะพร้าวตั้งขึ้นเป็นมุมฉาก

บางคนที่กล้าๆก็จะขึ้นไปนั่งบนลำต้นที่อยู่ในทะเลเพื่อถ่ายภาพ แต่พวกเราไม่กล้าค่ะ55

ด้านข้างมีสะพานไม้ให้ขึ้นไปถ่ายรูปได้




ถ่ายรูปกันหลายรูปนิดค่ะ วิวสวย บรรยากาศสงบ






เดินย้อนกลับทางเดิม


 ซุ้มประตูเก่าวัดป่าขาด


 ศิลปกรรมที่สำคัญของ อ.สิงหนคร สันนิษฐานว่าสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2200
  พร้อมกับวัดในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช



ศาลาการเปรียญตั้งอยู่ด้านข้างโบสถ์


 วิหารพ่อท่านคง 


ด้านในวิหารเป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของพระครูโสภณธรรมาราม(พ่อท่านคง) เจ้าอาวาสรูปที่ 5 
ของวัดป่าขาด และรูปเหมือนอดีตเจ้าอาวาส วิหารมียอดเป็นศาลาจตุรมุข 
มุขแต่ละด้านประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา และหางหงส์ หน้าบันประธานรูปเป็นพระพุทธรูปปูนปั้น

ออกเดินทางไปเที่ยวกันต่อค่ะ

เลี้ยวซ้ายออกจากวัดป่าขาดขับต่อไปตามถนนเลียบทะเลสาบอีกประมาณ 8 กม.

ขับมาจนถึงสี่แยกสะพานปากรอ ให้ขับตรงไปอีกประมาณ 1 กม.

ขับมาจนสุดถนนก็จะถึงจุดหมายค่ะ

วัดแหลมจาก ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา เป็นวัดสังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ชาวบ้านมักเรียกว่าวัดแหลม เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นออกไปสู่ทะเลสาบสงขลา

เป็นวัดเก่าแก่คู่กับคาบสมุทรสทิงพระมานาน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายประมาณปี พ.ศ. 2310 วัดตั้งอยู่บริเวณริมฝั่งทะเลสาบสงขลาด้านทิศตะวันออกของบ้านปากรอ 

แต่เดิมเป็นสำนักสงฆ์ที่ใช้ปฏิบัติธรรมและได้กลายเป็นวัดร้างหลายปี 
ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในช่วงปี พ.ศ. 2440 ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่โดยพระมหาลอย จนฺทสโร (ระตินัย) ซึ่งต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัด (พ.ศ. 2440-2482)
  พระมหาลอยมีความชำนาญในงานศิลป์และสถาปัตยกรรมต่าง ๆ 


วัดแหลมจากมีโบราณสถานที่สำคัญคือพระพุทธไสยาสน์หรือพระนอน


พระพุทธไสยาสน์ สร้างเมื่อประมาณปี พ.ศ.2470 โดยขนหินมาจากเกาะยอทางเรือข้ามทะเลสาบสงขลา ซึ่งเป็นการคมนาคมที่สะดวกที่สุดในสมัยนั้น เมื่อเรือจอดเทียบท่าวัดแหลมจาก พระสงฆ์ก็จะตีกลอง
ส่งสัญญาณให้ชาวบ้านในตำบลปากรอมาช่วยกันขนหินเข้าวัด

พระพุทธไสยาสน์มี 2 องค์ ประดิษฐานอยู่คนละด้านกัน
ซึ่งปัจจุบันทางวัดได้บูรณะซ่อมแซมแล้วหนึ่งองค์ และมีการสร้างวิหารคลุมเพื่อกันแดดกันฝน


 องค์พระพุทธไสยาสน์อยู่ในอิริยาบถ นอนตะแคงขวาหนุนพระเขนยรูปสามเหลี่ยม
พระพาหาขวาพับขึ้นแล้ววางแบพระหัตถ์อยู่ด้านหน้า


พระพาหาซ้ายวางพาดอยู่แนบพระองค์แล้ววางพระหัตถ์คว่ำไว้บนพระโสณี


พระพุทธไสยาสน์มีลักษณะพุทธศิลป์แบบภาคใต้ ก่อสร้างโดยใช้หินดินดานก่อเป็นองค์แล้วฉาบปูน
 โดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นนำหินมาเผาไฟทำเป็นปูนแทนปูนซีเมนต์


 องค์พระมีความกว้างประมาณ 5 เมตร ยาว 35 เมตร สูง 9 เมตร




องค์ที่บูรณะแล้วประดิษฐานอยู่ในศาลาสีแดงโดดเด่น ตั้งอยู่ด้านหน้าใกล้ประตูทางเข้าวัด


เดินมาชมองค์พระนอนอีกองค์ที่อยู่ข้างๆกัน


พระพุทธไสยาสน์องค์นี้ประดิษฐานอยู่กลางแจ้งกำลังได้รับบูรณะ 


องค์พระพุทธรูปปางไสยาสน์ขนาดใหญ่ สภาพยังสมบูรณ์กว่า 90% สันนิษฐานว่าเป็นองค์พระที่อยู่มาตั้งแต่ก่อสร้างวัด และถูกค้นพบในสภาพถูกปกคลุมไปด้วยวัชพืชนานาชนิด


พุทธลักษณะงดงามแบบเชิงศิลป์พื้นถิ่นภาคใต้ มีความยาวประมาณ 44 เมตร  


กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนวัดแหลมจากเป็นโบราณสถานของชาติเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2542
 เป็นโบราณสถานลำดับที่ 17 ในโบราณสถาน 46 ลำดับ ที่สำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา


น่าจะเพิ่งทาสีเสร็จเพราะยังมีกลิ่นสีแรงมากค่ะ

รอบๆองค์พระนอนจะมีพระพุทธรูปประดิษฐานทั้งด้านหน้าและด้านหลัง



พระพุทธรูปปางบริวารต่างๆ ประกอบด้วย พระพุทธรูปปางไสยาสน์องค์เล็ก 2 องค์
 และพระพุทธรูปประทับนั่ง 19 องค์



เดินชมรอบๆองค์พระ






ด้านหลังองค์พระนอนมีพระพุทธรูปองค์เล็กๆอีกหลายองค์

 พระพุทธไสยาสน์ในวัดแหลมจากเป็นปูชนียสถานที่เก่าแก่และสำคัญ

 พระอุโบสถของวัดแหลมจากตั้งอยู่ในกำแพงแก้วใกล้ ๆ กับองค์พระพุทธไสยาสน์


อุโบสถสีทองโดดเด่นสร้างตามแบบอุโบสถทั่วไป 

หน้าบันมีรูปพญาครุฑตัวแทนแห่งพระเป็นเจ้าบนฟากฟ้า และเป็นตัวแทนแห่งพระราชาในเมืองมนุษย์
 ด้านหน้ามีพระพุทธรูปทรงเครื่องปางห้ามมารหรือห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่

พระอุโบสถและพระพุทธไสยาสน์

เจดีย์สีทอง


เจดีย์ตั้งอยู่ด้านหน้าอุโบสถ มีบันไดทางขึ้นทั้งสี่ด้าน


มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ที่ฐานเจดีย์ทั้งสี่ด้านค่ะ

ศาลาด้านข้างอุโบสถ



พระยาพิชัยดาบหักและไก่ชน

พระสีวลี

เจ้าแม่กวนอิม

ไปเดินเล่นที่ริมทะเลสาบกันค่ะ มีศาลาริมน้ำและม้านั่ง


จระเข้สีทอง


รูปปั้นจระเข้ขนาดใหญ่ นอนอ้าปากอยู่ริมน้ำ หันหัวไปทางทะเลสาบสงขลา

พระฤาษี นางเงือก และสุดสาคร


 วัดแหลมจากมาจากการเรียกขานของชาวบ้านประกอบด้วยคำว่า
 "แหลม" หมายถึงลักษณะของแผ่นดินที่ยื่นออกไปกลางทะเล
 "จาก" หมายถึงต้นไม้ชนิดหนึ่งซึ่งขึ้นอยู่ทั่วไปในแถบลำคลองที่มีน้ำสองน้ำ น้ำกร่อย ป่าชายเลน 
ทำให้ "วัดแหลม" กลายเป็น "วัดแหลมจาก" 




ศาลากลางน้ำ


สะพานเล็กๆเชื่อมไปยังศาลากลางน้ำ



สัตว์น้ำที่พบในทะเลสาบ ปลา ปู กุ้ง


ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น

โครงการอนุรักษ์พันธุ์ปลา ชุมชน ม. 6 ต.ปากรอ อ.สิงหนคร จ.สงขลา


วิวสวยและบรรยากาศสงบมากๆค่ะ




มะพร้าวเอน

วัดนี้เงียบสงบและอากาศดีมากๆค่ะ

แม่ตุ๊กทำข้าวกล่องมาทานในรถ ทานเสร็จก็ออกเดินทางกลับบ้านค่ะ


ข้ามสะพานปากรอ


ผ่านอำเภอควนเนียง

ข้ามคลองบางกล่ำ

ตลาดน้ำคลองบางกล่ำปิดเนื่องจากสถานการณ์โควิด 2019