TUKEMD

__TUKEMD__ชื่อบ้าน อ่านว่า ตุ๊ก-เอ็ม-ดี นะจ๊ะ เป็นชื่อในเน็ตของแม่ตุ๊กเองค่ะ

บ้านหลังน้อย หลังนี้เป็นของแม่ตุ๊ก,น้องมะปราง และ คุณป๋า

เป็นบล็อกเพื่อบันทึกความสุข ความทรงจำ ในการท่องเที่ยวที่ต่างๆของครอบครัวเราค่ะ



2561/01/01

3.วัดผาตากเสื้อ วัดป่าภูก้อน เมืองอุดร

วันอาทิตย์ที่ 31 มีนาคม 2561

เวลา 7:30 น.ตื่นเช้า อาบน้ำ แต่งตัวเสร็จ ก็มาทานอาหารที่ห้องอาหารของโรงแรม


อาหารเช้ามีน้อย พอรองท้องได้ค่ะ


เวลา 8:30 น.เดินทางออกจากโรงแรม ไปตามถนนหมายเลข 242  ระยะทางประมาณ 4 กม.
 ด้านหลังคือสะพานมิตรภาพไทย-ลาว


ทางเดินขึ้นไปชมสะพาน


Friendship Bridge


ทางเดินขึ้นจะไกลหน่อยค่ะ ข้างหน้ามีด่านตรวจถ้าเป็นคนลาวต้องลงชื่อในสมุดบันทึกเวลาเข้าออก


สะพานมีความยาว 1,170 เมตร ถ้าจะเดินไปจนสุดสะพานคงจะเหนื่อยเกินไป
 บางคนก็เดินไปถ่ายรูปที่กลางสะพานแล้วเดินกลับค่ะ


สะพานมิตรภาพไทย-ลาวแห่งแรก (หนองคาย-เวียงจันทน์) เปิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2537

เดินทางต่อไปตามถนน 242 และ 221 ไป อ.ศรีเชียงใหม่ ระยะทาง 60 กม.
ถนนนี้สวยมากค่ะ ทางคดเคี้ยวไปตามริมแม่น้ำโขง

เวลา 9:30 น.เดินทางมาถึง วัดหินหมากเป้ง ต.พระพุทธบาท อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย
วัดนี้มีพื้นที่กว้างมากๆค่ะ ด้านในมีเจดีย์ เมรุ พิพิธภัณฑ์ และป่าร่มรื่น

พวกเรามีเวลาน้อยเลยขับรถเข้าไปด้านในสุดบริเวณพระอุโบสถ เพื่อไปชมที่มาของชื่อวัดค่ะ
เดินไปด้านหลังพระอุโบสถจะพบกับแม่น้ำโขง

ระเบียงหินหมากเป้ง


ประวัติหินหมากเป้ง

ระเบียงนี้เหมือนหน้าผายื่นเข้าไปในแม่น้ำโขง


หินหมากเป้งก้อนที่ 3 อยู่ใต้ระเบียงนี้




ศาลารูปเหมือนหลวงปู่เทสก์ ด้านในมีหุ่นขี่ผึ้งของหลวงปู่ท่านั่งสมาธิ


หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เป็นผู่ก่อตั้งวัดนี้ขึ้นมา


ประวัติของหลวงปู่


ระเบียงนี้เป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงาม




หินหมากเป้งก้อนที่ 1 และ 2 อยู่ที่ใต้ระเบียงนี้ค่ะ มีคนนำมาลัยมาวางกราบไว้ด้วย


ถ้าต้องการจะเห็นหินให้ครบทั้งสามก้อน ต้องนั่งเรือออกไปชมจากกลางแม่น้ำโขงแบบรูปนี้ค่ะ


เดินลงไปด้านล่างกันค่ะ

ลานหินริมโขง




ลานหินกว้างใหญ่ดีค่ะ




มะปรางนั่งเล่นสบายใจ ไม่กลัวตกน้ำเลยค่ะ


มองไปทางฝั่งลาวไม่มีลานหินสวยๆแบบนี้

เวลา 10:00 น.เดินทางไปตามถนน 211 เลียบแม่น้ำโขง  มุ่งหน้าไปยัง อ.สังคม


ระยะทางประมาณ 20 กม.ก็มาถึงทางแยกเข้าวัดผาตากเสื้อ


เวลา 10:30 น.เข้าสู่บริเวณวัดผาตากเสื้อ ต.ผาตั้ง อ.สังคม จ.หนองคาย
แวะจุดชมวิวด้านหน้าวัดค่ะ ตรงนี้น้ำโขงลดจนเริ่มเห็นสันทรายกลางน้ำ

บริเวณนี้คือจุดชม "เกล็ดพญานาคริมโขง"
ในช่วงที่น้ำลดมากจะเห็นสันทรายเป็นริ้วคล้ายเกล็ดพญานาค

วันนี้คนมาเที่ยวเยอะมาก รถหนาแน่น เลยต้องหาที่จอดรถด้านนอกแล้วเดินเข้าไปในวัด

รีบเดินไปที่เที่ยวแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของวัดผาตากเสื้อกันก่อนค่ะ


ข้างหน้าคือ Sky Walk มีคนต่อคิวเยอะมาก


ข้อปฏิบัติในการขึ้นชม Sky Walk


ถอดรองเท้าแล้วไปยืนต่อคิวเลยค่ะ


เดินเข้าไปได้รอบละไม่เกิน 20 คน

เดินเข้าไปในพื้นที่ยื่นส่วนกระจกได้ครั้งละ 5 คน ยืนชมวิวไม่เกิน 3 นาที

จากจุดชมวิวบนนี้มองไปทางซ้ายจะเห็นวิวแม่น้ำโขงโค้งยาว
 กลางแม่น้ำมีเกาะขนาดใหญ่ทำให้มีลักษณะคล้ายแยกเป็นรูปตัว Y 

Sky Walk วัดผาตากเสื้อ เป็นสกายวอร์คกระจกใสแห่งแรกของประเทศไทย
เปิดเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559

วัดนี้ตั้งอยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 550 เมตร


ทางเดินรวม 16 เมตร เป็นกระจกใส 15 เมตร ยื่นออกไปจากหน้าผาเป็นรูปเกือกม้า

พื้นทางเดินใช้กระจกแทมเพอร์ลามิเนต สามารถมองเห็นวิวด้านล่างได้


วันนี้นักท่องเที่ยวเยอะมากเลยไม่ค่อยทำตามกฏ ไปยืนรวมกันตรงกลางหลายคน
 พวกเรารีบถ่ายรูปแล้วเดินออกมาค่ะ

มองจากตรงนี้จะเห็นส่วนที่ยื่นออกจากหน้าผา จริงๆก็ไม่ยาวนักแต่เป็นของใหม่คนเลยตื่นเต้นมาก


ลานรอบๆวัดบนนี้ถือเป็นจุดชมวิวแม่น้ำโขงที่สวยงามแห่งหนึ่ง มองเห็นฝั่งลาวชัดเจน

ถ้ามาตอนเช้าในช่วงหน้าหนาวจะเห็นทะเลหมอกด้วยค่ะ

เดินย้อนกลับไปด้านล่าง




มองย้อนขึ้นไปเห็นสกายวอร์ค ยื่นออกมาจากหน้าผา


ลานชมวิวด้านล่าง


หน้าผาชมวิว


หน้าผานี้เป็นจุดชมวิวที่สวยมากๆค่ะ คนนั่งถ่ายรูปไม่ยอมลุกกันเลย55


วัดผาตากเสื้อ เดิมชื่อวัดถ้ำพระ 
หลวงปู่เพชร ปะทีโป ท่านเดินทางมาปฏิบัติธรรมที่ถ้ำพระ และได้ก่อตั้งวัดขึ้นมาเมื่อปี พ.ศ.2477


พวกเราไม่ได้เข้าไปไหว้พระด้านในโบสถ์เพราะคนหนาแน่นมาก 
เลยไหว้พระ ทำบุญที่ลานด้านหน้าวัดและออกเดินทางไปอุดรธานีต่อค่ะ

เวลา 12:00 น.แวะทานอาหารเที่ยงที่เพิงข้างทาง เป็นไก่ย่างวิเชียรบุรี ส้มตำ ถูกและอร่อยมากๆค่ะ 


เวลา 13:00 น.เดินทางมาถึง อ.นายูง จ.อุดรธานี จุดหมายคือวัดป่าภูก้อน


ช่วงเทศกาลทางวัดจะให้จอดรถไว้ข้างล่างแล้วต่อคิวขึ้นรถกระบะเพื่อไปยังวัดด้านบน 
ค่ารถคนละ 20 บาท นั่งเกาะท้ายรถแบบนี้ระยะทางขึ้นเขาประมาณ 1.5 ม.


แผนผังของวัดจากเวปไซต์ของวัด

รถแวะที่จุดแรกคือ องค์พระมหาเจดีย์ ซึ่งเป็น 1 ใน "โครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2542" ได้อัญเชิญตราสัญลักษณ์ และพระรูปหล่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาประดิษฐานภายในนี้ด้วย

พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์ กำลังมีการบูรณะ


มีพระบรมสารีริกธาตุบรรจุในพระเกศพระร่วงโรจน์ศรีบูรพา
 ซึ่งเป็นประธานประดิษฐานหน้าองค์พระปฐมรัตนบูรพาจารย์มหาเจดีย์

    รูปภาพมุมสูงจากเวปไซต์วัดป่าภูก้อน   http://www.watpaphukon.org   
เป็นเพราะภาพงดงามนี้ที่ทำให้พวกเราอยากมาชมของจริงสักครั้ง

รถขับขึ้นมาจอดที่ลานด้านล่างวิหาร

ภายในวิหารด้านบนเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี

ถอดรองเท้าไว้ด้านล่างแล้วขึ้นไปด้านบน เพียงแค่ขึ้นมายืนตรงลานกว้างก็ตื่นตาตื่นใจแล้วค่ะ

พระวิหารที่สวยงามสะดุดตาของวัดป่าภูก้อนมีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สมัยรัตนโกสินทร์


กระเบื้องหลังคามีสีฟ้าโดดเด่น

คนหนาแน่นมากๆค่ะ รีบเข้าไปชมด้านในวิหารกันดีกว่า

พระพุทธไสยาสน์โลกนาถศาสดามหามุนี  หินอ่อนสีขาว ความยาว 20 เมตร 


สร้างด้วยหินอ่อนจากประเทศอิตาลี  ซึ่งเป็นหินขาวอ่อนที่มีความสวยงามและทนทานมากที่สุด
นำมาเรียงซ้อนกันถึง 42 ก้อน  ใช้ระยะเวลาในการสร้างนานถึง 6 ปี

 สร้างขึ้นเนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9
 ทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 7 รอบ 84 พรรษา ในปี 2554 

มีประตูทางเข้าออกวิหาร 3 ด้าน ภายในถูกตกแต่งอย่างวิจิตรตระการตา
แฝงไปด้วยเรื่องราวคำสอนของพระพุทธเจ้า 


 รอบผนังภายในวิหารตกแต่งด้วยภาพพุทธประวัติและภาพทศชาติ เป็นภาพปั้นนูนต่ำหล่อด้วยทองแดงจำนวน 22 ช่อง ซึ่งเป็นภาพของพระพุทธเจ้าในองค์ชาติต่างๆ 10 ชาติ  
โดยด้านบนของทุกภาพแกะสลักบทสวดอิติปิโสช่องละท่อนด้วยสีเขียวเข้มบนหินอ่อนขาว

ไหว้พระและถ่ายรูปด้านในเสร็จก็ออกมาเดินเล่นรอบๆวิหารกันค่ะ


วัดป่าภูก้อน ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่านายูงและป่าน้ำโสม ท้องที่บ้านนาคำ ตำบลบ้านก้อง อำเภอนายูง จังหวัดอุดรธานี อันเป็นรอยต่อแผ่นดิน 3 จังหวัด คือ อุดรธานี เลย และหนองคาย 

วัดแห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2530 ซึ่งจุดประสงค์หลักของการสร้างวัดคือต้องการปลูกป่าทดแทนเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าเสื่อมโทรมกว่า 750 ไร่ รวมถึงการขออนุญาตใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติที่อยู่โดยรอบวัด เพื่อใช้เป็นพื้นที่ปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามระเบียบของกรมป่าไม้ 

ด้านหลังวิหาร

                วัดนี้ได้รับหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออาศัยอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ
          เพื่อจัดตั้งพุทธอุทยาน จนวัดแห่งนี้ได้รับขนานนามว่า "พุทธอุทยานมหารุกขปาริชาติภูก้อน"


ศาลาที่อยู่รอบๆวิหารก็สวยงาม


เดินวนจนรอบวิหาร

ป้ายขนาดใหญ่หน้าบันไดทางขึ้นวิหาร

ท้าววิรุฬหกเทวราช ยืนอยู่ตรงเชิงบันได

ได้เวลาเดินทางเข้าเมืองอุดรธานีแล้วค่ะ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น