วันเสาร์ที่ 28 เมษายน 2555 เวลาประมาณ 08:30 น.
ทริปนี้พวกเราไม่ได้วางแผนเที่ยวล่วงหน้าเพราะเป็นการเดินทางพามะปรางไปสอบ TMC
(thailand mathematic contest) ครั้งที่ 2 (รอบที่ 2)ที่กรุงเทพฯ
ได้รับการสนับสนุนในการเดินทาง ที่พัก และพาเที่ยวโดยผู้มีอุปการะคุณ
ออกจากสนามบินเวลาประมาณ 11:00 น.รถติดมาก มีอุบัติเหตุตลอดทาง และมีการก่อสร้างทางด้วย
พาหนะการเดินทางครั้งนี้คือ Camry Hybrid (พร้อมคนขับรถ)ใช้เวลาร่วม 2 ชม.ก็เข้าเขตนครปฐม
แวะทานอาหารเที่ยงที่ร้านก๋วยเตี๋ยวข้างทาง
จุดหมายแรกของวันนี้คือ "พิพิธภัณฑ์รถเก่า" ขับไปทางพุทธมณฑลสาย 8 วิ่งไปตามทาง ผ่านนครชัยศรี
ขับไปเรื่อยๆ จะมีป้ายบอกทางเป็นระยะห่างๆจนถึงแยกสถานีรถไฟงิ้วราย เลี้ยวขวาข้ามทางรถไฟ
ตอนนี้เวลาประมาณบ่ายโมงกว่าๆ อากาศร้อนถึงร้อนมาก พวกเราก็มาถึงแล้วค่ะ
*****
*****
พิพิธภัณฑ์รถเก่า หรือ เจษฎาเทคนิค มิวเซียม
*****
*****
หาที่จอดรถด้านหน้า ใต้ร่มไม้ได้เลยค่ะ
school bus สีเหลืองสดใส
วันและเวลาทำการ 9.00-17.00 น. เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์
เดินเข้าไปด้านในกันค่ะ จะมี จนท.นั่งอยู่พวกเราเดินไปลงทะเบียนเขาชม ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆเลย
จักรยานโบราณมากๆ
รถรางสีเขียวสวยดีค่ะ
วันนี้คนเข้าชมไม่มากนักคงเป็นเพราะอากาศร้อน ตัวพิพิธภัณฑ์เป็นอาคารหลังคาสูง
เหมือนโรงรถขนาดใหญ่ มองเข้าไปจะเห็นรถจำนวนมากมายจอดเรียงรายอย่างเป็นระเบียบ
ซึ่งเกิดแรงบันดาลใจจากการเดินทางไปท่องเที่ยวดูงานด้านเครื่องยนต์กลไก ในทวีปยุโรปและอเมริกา
ได้พบเห็นพิพิธภัณฑ์หลายแห่งที่รวบรวม รถยนต์ หายากไว้มากมาย และจัดแสดงได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ คุณเจษฎา จึงเริ่มสะสมรถยนต์หายากขึ้นบ้าง
รถรถคันแรกที่นำเข้ามาจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ก็คือรถการ์ตูน (Bubble Car)
ซึ่งตอนนี้มีจำนวนมากมายนับร้อยคัน
Kinder Garten รถเด็กอนุบาล---- เคยเห็นในภาพยนตร์บ่อยๆ----
ที่นี่ค่อนขวางกว้างขวาง มีการจัดแบ่งโซน โชว์รถโบราณแต่ละประเภทเป็นสัดส่วน
ถ้าตรงไหนมีเชือกแดงกั้นไว้ห้ามเข้า-ห้ามแตะค่ะ เดี๋ยวรถจะเสียหาย คนอื่นจะไม่ได้ชม(ช่วยกันถนอมรถค่ะ)
คุณเจษฎาเก็บหอมรอมริบสะสมรถทีละคันสองคัน จนกระทั่งตอนนี้มียานยนต์ที่สะสมไว้กว่า 500 คัน
ไม่เห็นรถคนลาก(แบบในหนังจีน)มานานแล้ว มะปรางยกไม่ขึ้นค่ะ
แต่แม่ตุ๊กไม่อนุญาตค่ะ เดี๋ยวรถเค้าเสียหาย
รถมอเตอร์ไซค์สามล้อ(หรือรถตุ๊กตุ๊กนั่นเอง) มีหลายแบบหลายสี
เดินเข้าไปด้านในสุดจะเป็นโซนรถมอเตอร์ไซค์เก่าๆค่ะ
มะปรางบอกว่าเยอะมากๆๆ...จนเลือก(ถ่ายรูป)ไม่ถูกเลยค่ะ
มาดูโซนรถโบราณขนาดใหญ่กันค่ะ
Wedding car สีชมพูหวานมากๆ
รถทุกคันจะสะอาดมันแวว มีการดูแลอย่างดี(น่าจะเช็ดทุกวันเลยนะเนี่ย)
รถเด็กคันเล็กๆก็มีนะคะ
รถแต่ละคันจะไม่เหมือนกันเลยค่ะ...มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
ที่นี่น่าจะเป็นสวรรค์ของคนรักรถเก่าและคนชอบถ่ายรูปเลยค่ะ
โซนนี้เป็นรถแท็กซี่...แต่ละคันใหญ่โตมากมาย
เดินจนทั่วก็ได้เวลากลับกันแล้วค่ะ ก่อนกลับมะปรางขอขึ้นไปสำรวจบนรถเมล์(united)คันนี้สักหน่อย
เว็บไซต์ http://www.jesadatechnikmuseum.com
เวลาประมาณ 14:30 น.ออกเดินทางต่อเข้าไปในอำเภอเมืองนครปฐม
เพื่อไป"วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร" ที่ประดิษฐานองค์พระปฐมเจดีย์ซึ่งถือว่าเป็นพระสถูปเจดีย์
ที่มีขนาดใหญ่ ที่สุดในประเทศไทย จังหวัดนครปฐมได้ใช้พระปฐมเจดีย์เป็นตราประจำจังหวัด
เปิดตั้งแต่เวลา 07.00-20.00 น. ค่าเข้าชมชาวต่างประเทศ 40 บาท คนไทยฟรีค่ะ
ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะมีงานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์
ที่นี่มีทางขึ้น 4 ทาง พวกเราขึ้นทางด้านหลังแวะไหว้พระก่อนค่ะ
แล้วก็เดินวนทางซ้ายรอบองค์พระเจดีย์เพื่อไปทางด้านหน้ากันค่ะ
เดินด้านในจะร่มมากกว่า
ต้องคอยชะโงกหน้าดูทางช่องหน้าต่างว่าถึงด้านหน้าหรือยัง จะมีประตูทางออกเป็นระยะๆ
ถึงทางออกด้านหน้าแล้วค่ะ
โดยโปรดเกล้าฯให้สร้างครอบพระเจดีย์องค์เดิมซึ่งเป็นเจดีย์เก่าแก่มีฐานแบบโอคว่ำมียอดปรางค์อยู่ข้างบน
ต่อมาในสมัย ร.6 ได้ทรงบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์ให้สง่างามมากขึ้นถือว่าวัดพระปฐมเจดีย์เป็นวัดประจำร.6
พวกเราขอทำบุญถวายสังฆทานกันก่อน เสร็จแล้วก็มากรวดน้ำ...สบายใจ
ประดิษฐานในซุ้มวิหารทางทิศเหนือหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ สร้างในสมัยร.6 โดยได้พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดเกล้าฯ ให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้งปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อพ.ศ. 2456 แล้วอัญเชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านทิศเหนือตรงกับบันไดใหญ่
ที่ฐานของพระพุทธรูปองค์นี้เป็นที่บรรจุพระบรมอัฐิของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
ทรงพระราชทานนามว่า “พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ ธรรมโมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร”
เวลา15:30 น.เดินทางต่อไป"พิพิธภัณฑ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (พระราชวังสนามจันทร์)"
ตั้งอยู่ในตัวเมือง ห่างจากองค์พระปฐมเจดีย์ ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กม.
เปิดให้เข้าชมทุกวัน(ปิดวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น. (ปิดขายบัตร 15.30 น.)
อัตราค่าเข้าชม คนไทย ผู้ใหญ่ 30 บาท เด็ก 10 บาท
พระภิกษุ สามเณร แม่ชี นักศึกษา 10 บาท
ชาวต่างประเทศ 50 บาท
วันนี้พวกเราเข้าชมฟรีค่ะเพราะปิดขายบัตรแล้ว ต้องแต่งกายให้สุภาพ แม่ตุ๊กต้องหาเสื้อคลุมมาสวมทับ
การสร้างพระราชวังแห่งนี้มีมูลเหตุจูงใจมาจากการบูรณะปฏิสังขรณ์องค์พระปฐมเจดีย์
ซึ่งทำให้ ร.6ทรงพอพระราชหฤทัยเมืองนครปฐมเป็นอย่างยิ่ง
ทรงเห็นว่าเป็นเมืองที่เหมาะสมสำหรับประทับพักผ่อนเนื่องจากมีภูมิประเทศที่งดงาม ร่มเย็น
มีพื้นที่ประมาณ 888 ไร่ 3 งาน 24 ตารางวา
เรือนพระนนทิเสน
อาณาเขตกว้างขวางประกอบด้วยสนามใหญ่อยู่กลาง มีถนนโอบเป็นวงโดยรอบ และมีคูน้ำล้อมอยู่ชั้นนอก ส่วนพระที่นั่งต่าง ๆ นั้นรวมกันอยู่ส่วนกลางของพระราชวัง
พระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของสนามจันทร์ เป็นพระตำหนัก 2 ชั้น
สถาปัตยกรรมแบบเรอเนสซองส์ของฝรั่งเศสกับอาคารแบบฮาร์ฟทิมเบอร์ของอังกฤษ สร้างแบบตะวันตก
ร.6 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปีพ.ศ. 2451 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ ชั้นบนมีห้องทรงพระอักษร ห้องบรรทม และห้องสรง ชั้นล่างทางทิศตะวันตกเป็นห้องรอเฝ้าฯ และเคยใช้เป็นสำนักงานชั่วคราวในการออกหนังสือพิมพ์ดุสิตสมิตรายสัปดาห์ พระตำหนักหลังนี้ใช้เคยเป็นที่ประทับเมื่อเวลามีการซ้อมรบเสือป่า ณ พระราชวังสนามจันทร์และทรงใช้เป็นที่ประทับตลอดช่วงปลายรัชกาลเมื่อเสด็จ พระราชวังสนามจันทร์
พระตำหนักมารีราชรัตบัลลังก์ เป็นเรือนไม้สักทอง 2 ชั้นแบบตะวันตกทาสีแดง ลักษณะสถาปัตยกรรมแบบนีโอคลาสสิค พระตำหนักองค์นี้สร้างขึ้นคู่กับพระตำหนักชาลีมงคลอาสน์ เชื่อมติดต่อถึงกันด้วยฉนวนทางเดินทอดยาวลักษณะเป็นสะพาน หลังคามุงกระเบื้อง ติดหน้าต่างกระจกตลอดความยาวสองด้าน จากชั้นบนด้านหลังพระตำหนักชาลีฯ ข้ามคูน้ำมาเชื่อมกับชั้นบนด้านหน้าของพระตำหนักมารีฯ
ร.6ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระตำหนักนี้ราวปี พ.ศ. 2459 โดยมีหม่อมเจ้าอิทธิเทพสรร กฤดากร เป็นสถาปนิกออกแบบ พระตำหนักทั้งสองหลังสร้างขึ้นด้วยแรงบันดาลพระราชหฤทัยจากบทละครเรื่อง My friend Jarlet ของ Arnold Golsworthy และ E.B. Norman ซึ่งทรงแปลบทละครเรื่องนี้เป็นภาษาไทยชื่อว่า “มิตรแท้”โดยทรงนำชื่อตัวละครในเรื่องมาเป็นชื่อของพระตำหนัก
พวกเราไม่ได้ขึ้นไปชมค่ะเพราะปิดเวลา 16:00 น. ไม่เป็นไรเดินเล่นรอบๆก็ได้ค่ะ
พระตำหนักทับขวัญ เป็นเรือนไทยภาคกลางที่สมบูรณ์แบบ สร้างด้วยไม้สักทองใช้วิธีเข้าไม้ตามแบบฉบับบ้านไทยโบราณ ฝาเรือนทำเป็นฝาปะกนกรอบลูกฟัก เชิงชายและไม้ค้ำยันสลักเสลาสวยงาม
หลังคาเดิมมุงจาก หลบหลังคาด้วยกระเบื้องดินเผา
นายช่างผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างคือ พระยาวิศุกรรมศิลป์ประสิทธิ์ (น้อย ศิลปี)
16:30 น.ได้เวลาเดินทางกลับกันแล้วค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น